เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 5.อเจลกวรรค 6.จาริตตสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
ธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้เข้าไปหาตระกูลทั้งหลายได้ในสมัยที่ทำจีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว เที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร หรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร นอกสมัย
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร นี้เป็น
สมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

ทรงอนุญาตให้บอกลาก่อนเข้าตระกูล
[298] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ต้องการเภสัช แต่มีความยำเกรง
อยู่จึงไม่เข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้
เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกลา
ภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไปในตระกูลทั้งหลายได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขา
บทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่
เที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร หรือหลังเวลาฉัน
ภัตตาหาร นอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่ถวายจีวร
สมัยที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :441 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [5.ปาจิตติยกัณฑ์] 5.อเจลกวรรค 6.จาริตตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[300] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รับนิมนต์ไว้แล้ว คือ ภิกษุรับนิมนต์ฉันโภชนะ 5 อย่าง อย่างใด
อย่างหนึ่ง
ที่ชื่อว่า มีภัตตาหารอยู่แล้ว คือ ภิกษุมีอาหารที่รับนิมนต์ไว้
ที่ชื่อว่า ภิกษุมีอยู่ คือ ภิกษุที่อาจบอกลาก่อนเข้าบ้านได้
ที่ชื่อว่า ภิกษุไม่มีอยู่ คือ ภิกษุที่ไม่อาจบอกลาก่อนเข้าบ้านได้
ที่ชื่อว่า ก่อนเวลาฉันภัตตาหาร คือ ภิกษุยังไม่ได้ฉันภัตตาหารที่รับนิมนต์ไว้
ที่ชื่อว่า หลังเวลาฉันภัตตาหาร คือ ภิกษุฉันภัตตาหารที่รับนิมนต์ไว้ โดย
ที่สุดฉันด้วยใช้ปลายหญ้าคาแตะ
ที่ชื่อว่า ตระกูล หมายถึง ตระกูล 4 ได้แก่ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์
ตระกูลแพศย์ และตระกูลศูทร
คำว่า เที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลาย ความว่า ภิกษุก้าวเข้าอุปจารเรือน
ของผู้อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ ก้าวเท้าที่ 1 ล่วงธรณีประตู ต้องอาบัติทุกกฏ ก้าวเท้า
ที่ 2 ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนท้าย
แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้ว มีกำหนดเวลา 5 เดือน
ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 2 หน้า :442 }